สวัสดีแฟนเพจทุกท่าน วันนี้ศูนย์ภาษา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ขอนำเสนอบทเรียนในหัวข้อ Color Idiom/Phrase สำนวนหรือวลีจากสีต่าง ๆ

Release Date : 26-01-2022 00:00:00
สวัสดีแฟนเพจทุกท่าน วันนี้ศูนย์ภาษา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ขอนำเสนอบทเรียนในหัวข้อ Color Idiom/Phrase สำนวนหรือวลีจากสีต่าง ๆ

สำนวนคือกลุ่มคำที่มีลำดับที่แน่นอนซึ่งมีความหมายเฉพาะที่แตกต่างจากความหมายของแต่ละคำส่วนวลีคือคำกลุ่มสั้น ๆ ที่มักใช้ร่วมกันและมีความหมายเฉพาะ โดยวันนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องการใช้สีในสำนวนหรือวลีต่าง ๆ ที่ไม่ได้แปลว่าสีกันค่ะ
     สำนวนแรกคือ blue blood เลือดสีน้ำเงิน หรือที่แปลกันว่าสายเลือดขัตติยะ ขุนนาง ชนชั้นสูง โดยคำว่า blue blood เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสเปน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 มีคนสันนิษฐานว่าเป็นสำนวนที่ใช้เรียกราชวงศ์ชั้นสูงในยุคกลางของสเปนที่มีผิวขาวมากแล้วเห็นเส้นเลือดดำผ่านผิวหนังเป็นสีน้ำเงิน และคำว่าเลือดสีน้ำเงิน ยังนำมาใช้เรียกชื่อโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก เพราะสมัยก่อนโรคนี้มักพบในราชวงศ์ชั้นสูงของยุโรปที่แต่งงานในวงศ์เครือญาติ ทำให้เกิดการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมได้ 
     ยกตัวอย่างประโยค เช่น Blue blood members always come here every year. แปลว่ากลุ่มชนชั้นสูงมักจะมาที่นี่ทุกปี
     สำนวนที่สองคือ once in a blue moon แปลตรงตัวว่าพระจันทร์สีน้ำเงินนั้นเป็นไปได้ยาก หรือเป็นสำนวนที่แปลว่า นาน ๆ ครั้ง ไม่บ่อย มีที่มาคือปรากฏการณ์ดวงจันทร์เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินบนท้องฟ้าเมื่อภูเขาไฟกรากะตัวในอินโดนีเซียระเบิดในปี พ.ศ. 2426 เศษฝุ่นของภูเขาไฟฟุ้งกระจายในอากาศเปลี่ยนพระอาทิตย์ตกเป็นสีเขียวและดวงจันทร์เป็นสีฟ้าทั่วโลก
     ยกตัวอย่างประโยค เช่น The chance to win the lottery is once in the blue moon. โอกาสถูกลอตเตอรีมีน้อยมาก
     สำนวนถัดมาคือ black sheep = แกะดำ คนที่ไม่เหมือนคนอื่น คนที่ไม่น่าไว้วางใจของคนในกลุ่มหรือครอบครัว
     ยกตัวอย่างประโยค เช่น He is the black sheep of his family. เขาเป็นคนนอกคอกของครอบครัว
     สำนวนสุดท้าย green-eyed monster แปลตรงตัวว่าปีศาจตาเขียว แต่ในที่นี้แปลว่าอิจฉาริษยา สันนิษฐานว่าเริ่มจากงานเขียนของวิลเลียม เชกสเปียร์ นักบทกวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษ 
     ยกตัวอย่างประโยค เช่น “O beware, my lord, of jealousy; It is the green-eyed monster which doth mock the meat it feeds on.” ของวิลเลียม เชกสเปียร์ จากงานเขียนเรื่อง Othello แปลว่า โอ้นายแห่งข้า โปรดระวังความริษยา มันคือสัตว์ประหลาดตาสีเขียวที่เย้ยหยันเนื้อที่มันกิน
     เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ หวังว่าแฟนเพจทุกท่านจะได้รับความรู้และสามารถนำไปปรับใช้กันได้นะคะ แล้วพบกันใหม่ในวันหน้า สวัสดีค่ะ
Hiscock, P. (2021, August 19). Where Does the Phrase “Once in a Blue Moon”   Sky & Telescope. https://skyandtelescope.org/observing/once-in-a-blue-moon/
Merriam-Webster. (n.d.). Blue blood. In Merriam-Webster.com dictionary. Retrieved January 13, 2022, from https://www.merriam-webster.com/dictionary/blue%20blood
Merriam-Webster. (n.d.). Black sheep. In Merriam-Webster.com dictionary. Retrieved January 13, 2022, from https://www.merriam-webster.com/dictionary/black%20sheep
Merriam-Webster. (n.d.). Green-eyed monster. In Merriam-Webster.com dictionary. Retrieved January 13, 2022, from https://www.merriam-webster.com/dict.../green-eyed%20monster
Shakespeare, W. (1992). Othello (C. Watts, Ed.). Wordsworth Editions.
“เลือดสีน้ำเงิน” จากความผิดปกติสู่ความพิเศษ ที่อาจไร้ประโยชน์ในปัจจุบัน? (2020). กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/900610